วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2550

สุดยอดอาหารถั่วเหลือง


ถั่วเหลือง นับว่าเป็นถั่วชนิดเดียวที่สามารถนำมาดัดแปลงเป็นอาหารได้หลายชนิด หลากรสชาติมากที่สุด มีให้เลือกกินได้ครบ ทั้ง ต้ม ผัด แกง ทอด หรือแม้กระทั่งทำเป็นขนมขบเคี้ยวก็ได้

อาหารจากถั่วเหลืองในชีวิตประจำวันที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ เต้าหู้ ซึ่งก็มีมากมายหลายอย่าง นอกจากนั้น ก็เป็นฟองเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ เต้าฮวย โปรตีนเกษตร และน้ำมันถั่วเหลือง แม้กระทั่งมาการีน มายองเนส และน้ำมันสลัดก็มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง โดยอยู่ในรูปของน้ำมันถั่วเหลือง

เฉพาะผลิตภัณฑ์ เต้าหู้ นั้นมีให้เลือกหลายชนิด ได้แก่

เต้าหู้อ่อน เป็นเต้าหู้ที่มีเนื้ออ่อนนุ่ม มีสีขาวนวลกลิ่นหอม มีให้เลือกทั้งแบบก้อนบาง และก้อนหนา นิยมนำมาใส่แกงจืด และสุกี้ยากี้ เป็นต้น ปัจจุบันมีผู้ผลิตจำนวนมากผลิตเต้าหู้อ่อนแบบญี่ปุ่นในกล่องพลาสติกสี่เหลี่ยมบรรจุอย่างดี ออกมาจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายในการเลือกซื้อมายิ่งขึ้น

เต้าหู้หลอด เป็นเต้าหู้อ่อนอีกชนิดหนึ่งที่มีกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย บรรจุลงในหลอดพลาสติกแบบสุญญากาศ ทำให้รักษาความสะอาดได้ดี จึงเก็บได้นาน สะดวกในการใช้ มีทั้งชนิดธรรมดาและชนิดใส่ไข่

เต้าฮวย มีลักษณะคล้ายกับเต้าหู้อ่อนมาก ต่างกันตรงที่เต้าฮวยมีเนื้อนิ่มกว่า มักนิยมใช้รับประทานคู่กับน้ำขิง เป็นอาหารว่างอีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย และมีราคาถูก

เต้าหู้แข็ง (ขาว) เป็นเต้าหู้ที่มีเนื้อแข็ง สีขาวนวลออกครีมๆ มักทำออกมาเป็นก้อนสี่เหลี่ยม หนาประมาณ 1 เซนติเมตร เหมาะสำหรับทำอาหารหลายชนิด เช่น ยำ ลาบ แกง ผัด รวมทั้งอาหารจานเดียวยอดนิยมของคนทั่วโลกอย่างผัดไทย แต่เคล็ดลับในการปรุงอาหารจากเต้าหู้ชนิดนี้ ควรจะนำมาทอดให้เหลืองเสียก่อน เวลานำไปทำอาหารจะไม่เละ ทำให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น

เต้าหู้เหลือง มีทั้งชนิดอ่อนและแข็ง ลักษณะภายนอกจะมีเปลือกสีเหลือง เนื้อสีขาวนวล รสออกเค็มกว่าเต้าหู้ขาว เพราะเป็นเต้าหู้ขาวที่ปรุงขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำก้อนเต้าหู้ไปแช่ในน้ำเกลือ แล้วนำไปจุ่มสีเหลืองหรือขมิ้น เพื่อให้รู้ว่าเต้าหู้ชนิดนี้มีรสเค็มกว่าเต้าหู้ขาวธรรมดา และรสเค็มนี้สามารถยืดอายุการเก็บได้นานขึ้น ดังนั้น อาหารที่นำเต้าหู้เหลืองมาปรุงมักเป็นอาหารที่ต้องการให้มีรสชาติของเต้าหู้ที่เข้มข้นขึ้น เช่น อาหารจำพวก ทอด ผัด แกง ชนิดต่างๆ หรือแม้กระทั้งผัดไทย บางคนก็นิยมใช้เต้าหู้เหลืองมากกว่าเต้าหู้ขาว

วิธีการเลือกซื้อเต้าหู้ โดยรวมแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ

• เต้าหู้ที่ทำขายทั่วไปในตลาดสด เช่น เต้าหู้อ่อน เต้าหู้แข็ง เต้าหู้เหลือง ที่เป็นแผ่นห่อด้วยใบตองกับที่บรรจุภาชนะอย่างดี ควรเลือกซื้อที่ทำมาใหม่ๆ สีขาวนวลเป็นปกติ มีกลิ่นหอม ไม่มีเมือก ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว และภาชนะที่บรรจุต้องสะอาด
• เต้าหู้แบบบรรจุภาชนะอย่างดี ควรดูวันที่ผลิตและวันหมดอายุ มีสีสันเป็นปกติ รูปร่างเป็นปกติ เต้าหู้เป็นอาหารที่บูดเสียได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าเต้าหู้นั้นไม่ใส่สารกันบูด จะสังเกตเห็นว่าบางครั้งที่เราซื้อเต้าหู้มาเก็บไว้ในตู้เย็นเพียงแค่วันสองวัน เต้าหู้ก็จะเริ่มเป็นเมือก มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ยกเว้นเต้าหู้หลอดที่บรรจุในถุงพลาสติกสุญญากาศอย่างมิดชิด จะเก็บไว้ได้หลายวันกว่า แต่ก็ต้องดูวันเดือนปีที่ผลิดและวัยหมดอายุด้วยเช่นกัน

มีวิธีการเก็บเต้าหู้ให้ได้นานยิ่งขึ้น มีผู้รู้แนะนำให้เอาน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วใส่ชาม แล้วเอาเต้าหู้ลงแช่ให้ท่วม จากนั้นนำเข้าตู้เย็น ก็จะยืดอายุการเก็บได้นาน 7-15 วัน แล้วแต่ชนิดของเต้าหู้ ถ้าเป็นเต้าหู้อ่อน จเก็บได้ไม่นานเท่าเต้าหู้แข็ง ในกรณีเต้าหู้หลอด ให้เก็บในตู้เย็นช่องแช่เย็นธรรมดา ก็เก็บได้นานหลายวัน อย่านำไปแช่ช่องแข็ง เพราะลักษณะของเนื้อเต้าหู้จะเปลี่ยนไปไม่คงรูปเหมือนเดิม ส่วนเต้าหู้ทอด แม้จะเก็บในตู้เย็น หากไม่ใช่ช่องแช่แข็ง ไม่นานก็จะขึ้นรา ดังนั้น การทำอาหารจากเต้าหู้ จึงไม่ควรซื้อเต้าหู้มาในปริมาณมาก เพราะกลิ่นรสของเต้าหู้จะเปลี่ยนไปเมื่อเก็บไว้หลายวัน

เต้าหู้ทำอาหารได้อร่อยทุกอย่าง แถมมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายมหาศาล เพราะทำมาจากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่มีคุณสมบัติในเรื่องการช่วยรักษา และลดระดับความดันในเส้นเลือด รักษาระดับน้ำตาลในเลือด ปกป้องหัวใจ ทำให้ประจำเดือนของสตรีเป็นปกติ ทำให้กระดูกแข็งแรง มีคอเรสเตอรอลต่ำ และมีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็ง มีรายงายว่า ผู้หญิงในประเทศแถบซีกโลกตะวันออก มีอัตราการเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่าผู้หญิงในอเมริกา เพราะกินอาหารจากถั่วเหลือง มากกว่า 20-50 เท่า ผู้หญิงที่กินอาหารจากถั่วเหลือง มีอัตราการเป็นมะเร็งน้อยกว่าคนที่ไม่ได้กินถึงร้อยละ 50

น้ำเต้าหู้ คือ น้ำนมถั่วเหลืองที่ได้จากการปั่นถั่วเหลืองแล้วนำมาต้มเป็นน้ำ ถือเป็นเครื่องดื่มทดแทนนมวัวที่นิยมรับประทานกันทั่วไป เพราะเป็นอาหารเสริมสุขภาพที่ราคาถูก

ฟองเต้าหู้ เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่ได้จากการทำน้ำเต้าหู้ เมื่อต้มน้ำเต้าหู้จนมีความเข้มข้น ผิวหน้าของน้ำนมเต้าหู้จะจับตัวกันเป็นแผ่น สามารถตักออกมารับประทานได้เลย โดยนิยมใส่ในแกงจืด ฟองเต้าหู้ชนิดที่นำมาใช้เลยนี้เป็นแบบเปียก ส่วนแบบแห้งนั้น ต้องนำฟองเต้าหู้ที่ได้ไปตากหรืออบจนแห้ง มีทั้งแบบแผ่นใหญ่ที่คนจีนเรียกว่า หู่เมาะ นิยมนำไปห่ออาหาร เช่น แฮ่กื๊น หอยจ๊อ เปาะเปี๊ยะ และบบเป็นชิ้นเล็กที่เรียกว่า หู่กี่ นิยมใส่แกงจืด ผัดโป๊ยเซียน หรือนำไปอบและทอดให้กรอบแล้วทำเป็นผัดพริกขิง หรือผัดกับขิง

โปรตีนเกษตร หรือ โปรตีนถั่วเหลือง ทำจากแป้งถั่วเหลือง ปราศจากไขมัน มีคุณค่าทางอาหารสูง ราคาถูก เก็บง่ายไม่ต้องใส่ตู้เย็น ใช้สะดวก ใช้แทนเนื้อสัตว์ได้หลายชนิด ปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น

• ชนิดใหญ่พิเศษ ใช้ใส่แกงเขียวหวาน พะโล้ สะเต๊ก น้ำตก ฯลฯ
• ชนิดเกล็ดขนาดกลาง ใช้ผัดกะเพรา แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด ผัดพริกขิง ฯลฯ
• ชนิดเล็กขนาดเล็ก ใช้ทำลาบ แทนเนื้อหมูหรือหมูสับ
• ชนิดป่นละเอียด ใช้ทำขนมจีนน้ำยา แกงเลียง ซุป ฯลฯ ช่วยผสมในน้ำแกง ทำให้น้ำแกงข้นขึ้น

ถั่วงอกหัวโต เป็นถั่วงอกชนิดหัวใหญ่ที่เพาะจากถั่วเหลือง ต่างจากถั่วงอกทั่วไปที่นิยมเพาะจากถั่วเขียว จึงเรียกให้ต่างไปว่า ถั่วงอกหัวโต

นอกจากนี้แล้ว ยังมีอาหารหมักจากถั่วเหลืองอีกหลายชนิด ได้แก่ ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เทมเป้ นัตโต เป็นต้น แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ถือเป็นแหล่งของโปรตีนหลักที่จะให้แก่ร่างกาย เนื่องจากเป็นสารปรุงรสที่มีรสเค็ม จึงกินได้น้อย

ซอสปรุงรส หรือ ซีอิ๊ว เป็นเครื่องปรุงรสอาหารที่ได้จากการหมักถั่วเหลือง ซีอิ๊วดีที่สุดจะเป็นซีอิ๊วที่ได้จากการหมักครั้งแรก เรียกว่าซีอิ๊วขาว ส่วนซีอิ๊วที่ได้จากการหมักซ้ำโดยใช้ถั่วเหลืองที่หมักไปแล้ว จะเป็นซีอิ๊วขาวชั้นรอง คุณภาพต่ำลง ราคาถูกลง ส่วนซีอิ๊วดำ ได้จากการผสมซีอิ๊วขาวกับกากน้ำตาล

เดิมนั้น การหมักซีอิ๊วจัดเป็นศิลปะและเป็นความลับที่ถ่ายทอดกันเฉพาะในหมู่สมาชิกครอบครัวและลูกหลานเท่านั้น ประเทศที่นิยมใช้ซีอิ๊วเป็นเครื่องปรุงรส ได้แก่ จีนและญี่ปุ่น ปัจจุบันคนไทยก็นิยมใช้ซอสปรุงรสจากถั่วเหลืองอย่างแพร่หลาย หลังจากที่คุ้นเคยกับน้ำปลามายาวนาน

เต้าเจี้ยว คือ ถั่วเหลืองที่หมักด้วยกรรมวิธีเดียวกับการทำซีอิ๊ว แต่เต้าเจี้ยวจะมีส่วนประกอบของเนื้อถั่วอยู่ด้วย การหมักเต้าเจี้ยวใช้ถั่วเหลืองเป็นหลัก มีแป้ง เชื้อรา น้ำเกลือ และเครื่องปรุงรสต่างๆ เป็นส่วนประกอบ ผสมให้เข้ากันบรรจุในโอ่ง ปิดฝาแล้วตากแดด ปล่อยให้เกิดปฏิกิริยาการหมักเป็นเวลาประมาณ 3-6 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้วหากทำซีอิ๊วร่วมกับเต้าเจี้ยวในระยะนี้ ก็จะดูดส่วนที่เป็นของเหลวสีน้ำตาลปนแดงออกมา นำไปผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 65-88 องศาเซลเซียส จากนั้น จึงนำไปกรองเพื่อกำจัดตะกอนที่มีถั่วอยู่ออกไปก่อนบรรจุขวด กลายเป็นซีอิ๊วคุณภาพดี

เต้าเจี้ยวญี่ปุ่น (miso) จะแตกต่างจากเต้าเจี้ยวของจีน ตรงสีข้นดำ เนื้อถั่วบดละเอียด รสและกลิ่นแรงกว่า เพราะใช้เวลาหมักยาวนานเป็นปีๆ นิยมใช้เป็นเครื่องปรุงพื้นฐานของอาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เครื่องจิ้มต่างๆ รวมทั้งซุปทุกชนิด คล้ายกะปิ และปลาร้าในอาหารไทยของเรา

เต้าหู้ยี้ เป็นผลิตภัณฑ์หมักดองอีกชนิดหนึ่งที่ทำจากถั่วเหลือง และนิยมบริโภคกันทั่ว เต้าหู้ยี้นิยมใช้ปรุงอาหารพวกผัก (สุกี้ยากี้) เนื้อสัตว์ เป็นเครื่องจิ้ม และกินกับข้าวต้ม ที่ขายกันอยู่ในท้องตลาดมี 2 ชนิด คือ สีเหลืองและสีแดง โดยผู้ผลิตอาจเติมสารที่ให้กลิ่น สี และรสชาติเฉพาะตัวลงไปตามแนวความนิยมชอบของผู้บริโภค

เทมเป้ เป็นอาหารหมักพื้นเมืองของชาวอินโดนีเซีย ที่นิยมใช้เนื้อเทียมแทนเนื้อสัตว์ ทำจากการหมักถั่วเหลืองต้มนาน 1-2 วัน จนเชื้อราออกใยสีขาวเชื่อมยึดเมล็ดถั่วให้ติดกันแน่นเป็นแผ่นหนา เมื่อรับประทานก็จะนำไปหั่นเป็นแผ่นบางๆ จุ่มลงในน้ำเกลือ แล้วทอดน้ำมันให้กรอบหอม นอกจากนี้ ยังนำไปปรุงเป็นอาหารแทนเนื้อสัตว์ได้อีกมากมาย มีรสชาติอร่อยและให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ย่อยง่าย เป็นที่นิยมในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ในไทยไม่ค่อยมีคนรู้จักและนิยมรับประทานมากนัก

นัตโต เป็นอาหารหมักพื้นบ้านของชาวญี่ปุ่น ได้จากการหมักถั่วเหลืองด้วยเชื้อแบคทีเรียจำพวก บาซิลลัส นัตโต ที่ต่างจากผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองหมักอื่นๆ ที่มักใช้เชื้อรา ดังนั้น นัตโตจึงมีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว และมีเมือกที่แบคทีเรียสร้างขึ้นอยู่บนผิวรอบตัวของนัตโตด้วย คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานนัตโตร่วมกับซอสและซีอิ๊วขาวเป็นอาหารเช้าและอาหารค่ำ

ถั่วเน่า เป็นอาหารหมักจากถั่วเหลืองที่นิยมกันมากแถบภาคเหนือของประเทศไทย มีลักษณะคล้ายนัตโตของญี่ปุ่น ใช้เป็นเครื่องปรุงรสแทนกะปิ ส่วนใหญ่มักเติมใน ซุปผัก หรือนำมาห่อในใบตองนึ่งหรือปิ้งพอสุกแล้วกินกับข้าวเหนียว และนักมังสวิรัติบางคนยังนิยม รับประทานถั่วเน่า เพื่อชูรสชาติอาหารให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น


แหล่งข้อมูล : วารสารในเครือศูนย์ทันตกรรม Neo Dent Network

ไม่มีความคิดเห็น: